บริจาค

เห็นว่า..บล็อกนี้ดี มีประโยชน์... โปรดสนับสนุนผู้ทำบล็อกได้ที่ พร้อมเพย์ 083-4616989
หรือบัญชี 002-1-70462-8 กสิกรไทย สาขาบางลำภู

สติปัฏฐานสูตรของหลวงพ่อวัดปากน้ำ


ก่อนที่จะวิพากษ์วิจารณ์เนื้อหาของหนังสือ “มหาสติปัฏฐานสูตร” ที่แปลและเรียบเรียง โดยพระคันธสาราภิวงศ์ แห่งวัดท่ามะโอ จังหวัดลำปางกันต่อไป  ผมขอยกตัวอย่างการสอนสติปัฏฐาน 4 ของหลวงพ่อวัดปากน้ำมาอธิบายกันก่อน

ที่ต้องทำอย่างนี้ ก็เพราะคำบาลีที่ว่า “กาเย กายานุปัสสี” พระมหาสมลักษณ์ท่านแปลเป็น “ตามรู้ในกองรูปว่าเป็นกองรูป”  ซึ่งเป็นการแปลที่ไม่เหมือนใคร เพราะ ส่วนใหญ่เขาแปลกันว่า “เห็นกายในกาย

การแปลของพระมหาสมลักษณ์นั้น ผมว่า “ใจถึงดี” คือ แปลตามคำสอนของสายพองยุบ ไม่ต้องสนใจชาวบ้าน  แต่คำแปลของพระมหาสมลักษณ์นั้น  ตรงกับสติปัฏฐานสูตรหรือไม่ นั่นคือ สิ่งที่ผมต้องการจะพิสูจน์

ที่ต้องยกคำเทศน์ของหลวงพ่อวัดปากน้ำมาให้อ่านกันก่อน ก็เป็นเพราะว่า เป็นคำเทศน์ที่อธิบายสติปัฏฐานสูตรได้ตรงตามพระสูตรพระวินัยที่สุด  และต้องการให้เป็นหลักฐานว่า วิชาธรรมกายนี่แหละ สติปัฏฐานสูตรตัวจริงเสียงจริง

ในเว็บของวัดปากน้ำเรียงเทศน์กัณฑ์นี้เป็นกัณฑ์ที่ ๔๓ หลวงพ่อวัดปากน้ำเทศน์เมื่อ ๓ ตุลาคม ๒๔๙๗ ขอยกเฉพาะข้อความที่สำคัญๆ  รายละเอียดทั้งหมด ท่านที่สนใจไปอ่านได้ในเว็บของวัดปากน้ำ

อิธ ภิกฺขเว ภิกฺขุ กาเย กายา นุปสฺสี วิห รติ อาตาปี สมฺปชาโน สติมา วิเนยฺย  โลเก อภิชฺฌาโทมนสฺสํ  ว่าดูกรภิกษุทั้งหลายผู้ศึกษาพระธรรมวินัยของพระตถาคตเจ้านี้

กาเย กายานุปสฺสี                                   เห็นกายในกายเนืองๆ อยู่  
อาตาปี                                                     มีความเพียรเป็นเครื่องเผายัง กิเลสให้เร่าร้อน
สมฺปชาโน                                              รู้สึกตัวพร้อมอยู่เสมอ สติมา มีสติไม่เผลอ
วิเนยฺย โลเก อภิชฺฌา-โทมนสฺสํ         พึงกำจัดความดีใจเสียใจในโลกเสียให้พินาศ 

เวทนาสุ เวทนานุปสฺสี วิหรติ อาตาปี สมฺปชาโน สติมา วิเนยฺย โลเก อภิชฺฌาโทมนนสฺสํ  เห็นเวทนาในเวทนาเนือง ๆ อยู่ มีความเพียรเป็นเครื่องเผายังกิเลสให้เร่าร้อน มีความรู้สึกตัวพร้อมอยู่เสมอ มีสติไม่เผลอ พึงจำกัด อภิชฌาโทมนัสในโลกเสียให้พินาศ

จิตฺเต จิตฺตานุปสฺสี วิหรติ อาตาปี สมฺปชาโน สติมา วิเนยฺย โลเก อภิชฺฌา  โทมนสฺสํ เห็นจิตในจิตเนืองๆ อยู่ มีความเพียรเป็นเครื่องเผายังกิเลสให้เร่าร้อน มีความรู้สึกตัวพร้อมอยู่เสมอ  มีสติไม่เผลอ พึงกำจัด อภิชฌาโทมนัส ในโลกเสียให้พินาศ 

ธมฺเมสุ ธมฺมานฺปสฺสี วิหรติ อาตาปี สมฺปชาโน สติมา วิเนยฺยํ โลเก อภิชฺฌาโทมนสฺสํ เห็นธรรมในธรรมเนืองๆ อยู่ มีความเพียรเป็นเครื่องเผากิเลสให้เร่าร้อน มีความรู้สึกตัวพร้อมอยู่เสมอ มีสติไม่เผลอ พึงกำจัดความเพ่งอยากได้ ความเสียใจในโลกเสีย

หลวงพ่อวัดปากน้ำยังย้ำอีกว่า “นี้เป็นเนื้อความของวาระพระบาลีในมหาสติปัฏฐานสูตร แสดงหลักไว้ตามจริงดังนี้รับรองหมดทั้งประเทศไทยว่าเป็นข้อที่ถูกต้องแน่นอนแล้ว” ซึ่งก็เป็นจริงตามนั้น เพราะ พระไตรปิฎกแปลทุกฉบับในเมืองไทยก็แปลกันไปในทำนองเดียวกันนั้น

ต่อไปหลวงพ่อวัดปากน้ำอธิบายลึกลงไปในรายละเอียด ดังนี้

เห็นกายในกาย น่ะเห็นอย่างไร บัดนี้กายมนุษย์ ที่ปรากฏอยู่ นั่งเทศน์อยู่นี่ นั่งฟังอยู่นี่ นี่กายมนุษย์แท้ๆ แต่ว่ากายมนุษย์นี่แหละเวลานอนหลับฝันไปก็ได้ พอฝันออกไปอีกกายหนึ่ง เขาเรียกว่า กายมนุษย์ละเอียด

นี่รู้จักกันทุกคนเชียวกายนี้ เพราะเคยนอนฝันทุกคน รูปพรรณสัณฐานเป็นอย่างไร เป็นเหมือนมนุษย์คนนี้แหละ คนที่ฝันนี่แหละ นุ่งห่มอย่างไร อากัปกิริยาเป็นอย่างไร สูงต่ำอย่างไร ข้าวของเป็นอย่างไร ก็ปรากฏเป็นอย่างนั้น ก็ปรากฏเป็นคนนี้แหละแบบเดียวกันทีเดียว คนเดียวกันก็ว่าได้

แต่ว่าเป็นคนละคน เขาเรียกว่า กายมนุษย์ละเอียด เวลานอนหลับสนิทถูกส่วนเข้าแล้ว ก็ฝันออกไป ออกไปอีกคนหนึ่งก็เป็นกายมนุษย์คนนี้แหละ  รูปพรรณสัณฐานเป็นอย่างนี้แหละ ถึงได้ชื่อว่าเป็นกายมนุษย์ละเอียด

กายมนุษย์คนที่ฝันออกไปนั่นแหละเขาเรียกว่า กายมนุษย์ในกายมนุษย์ นี่แหละ กายในกาย หละ เห็นจริงๆ อย่างนี้ ไม่ใช่เห็นตามเหลวไหลเห็นอย่างนี้ก็เป็นหลักเป็นพยานได้ทุกคน เพราะเคยนอนฝันทุกคน นี่เห็นในกายเห็นอย่างนี่นะ เมื่อเห็นกายในกายอย่างนี้แล้ว

เห็นเวทนาในเวทนา ล่ะ ก็ตัวมนุษย์คนนี้มีเวทนาอย่างไรบ้าง สุข ทุกข์ ไม่สุข ไม่ทุกข์ ดีใจ เสียใจ เวทนาเป็นอย่างนั้นมิใช่หรือ ก็ส่วนกายที่ฝันออกไปนั้นก็มีสุข ทุกข์ ไม่สุข ไม่ทุกข์ ดีใจ เสียใจ เหมือนกันแบบเดียวกันกันกายมนุษย์คนนี้แหละ ไม่ต่างอะไรกันเลย

จิตล่ะ เห็นจิตในจิต ก็แบบเดียวกันกับเวทนาในเวทนา เห็นจิตในจิตนี่ ต้องกล่าว เห็นนะ ไม่ใช่กล่าว รู้ นะ

เห็นจิตในจิต ดวงจิตของมนุษย์นี้ เท่าดวงตาดำข้างนอก อยู่ในเบาะน้ำเลี้ยงหัวใจ ตำรับตำรากล่าวไว้ว่า หทยคูหา จิตฺตํ สรีร จิตฺตํ เนื้อหัวใจเป็นที่อยู่ แล้วก็กล่าวไว้อีกหลายนัย เนื้อหัวใจเป็นที่อยู่ แล้วก็กล่าวไว้อีกหลายนัย

ปกติมโน ใจเป็นปกติ ภวงฺคจิตฺตํ ใจเป็นภวังคจิต ตํ ภวงฺคจิตฺตํ อันว่าภวังคจิตนั้น ปสนฺนํ อุทกํ วิย จิตเป็นดังว่าน้ำ จิตนั่นแหละเป็นภวังคจิต เวลาตกภวังค์แล้วใสเหมือนกับน้ำที่ใส จิตดวงนั้นแหละเป็นจิตของมนุษย์ ที่ต้องมีปรากฏว่า จิตในจิตนั่นแหละอีกดวงหนึ่งคือ  จิตของกายมนุษย์ละเอียด ที่ฝันออกไปนั้นเรียกว่า จิตในจิต

ธรรมในธรรม เห็นธรรมในธรรมเนืองๆ เป็นไฉนเล่า ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ มีอยู่ในศูนย์กลางกายมนุษย์ ขนาดเท่าฟองไข่แดงของไก่ติดอยู่ในกลางกายมนุษย์ นี่เห็นธรรมในธรรมหละ

ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ละเอียดมีอยู่ ไม่เท่าฟองไข่แดงของไก่ สองเท่าฟองไข่แดงของไก่ อยู่ในกลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ละเอียดนี้แหละ สองเท่าฟองไข่แดงของไก่

นั่นเป็นดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ละเอียด นั่นอีกดวงหนึ่ง นั่นเห็นอย่างนี้ เห็น หรือรู้ ล่ะ รู้กับเห็นมันต่างกันนะ เห็นอย่างหนึ่ง รู้อย่างหนึ่ง นะ ไม่ใช่เอารู้กับเห็นมาปนกัน ไม่ได้

ขอย้ำคำสอนของหลวงพ่อวัดปากน้ำไว้ตรงนี้อีกหน่อย คำว่า “ไม่ใช่เอารู้กับเห็นมาปนกัน” ถูกต้องตรงเผงเลยทีเดียว 

คำว่า “ญาณทัสสนะ” นั้น “ญาณ” แปลว่า “รู้”  “ทัสสนะ” แปลว่า “เห็น”  ดังนั้น ในศาสนาพุทธเห็นกับรู้คนละอย่างกัน แต่ว่าต้องไปด้วยกัน เหมือนด้านหัวกับด้านก้อยของเหรียญ  คือ ต้อง “เห็น” เสียก่อนจึงจะ “รู้” ได้

พระพม่ากับสาวกเอา “เห็น” ออกไป แล้วเอา “รู้” มาแทนเห็น  แต่พระพม่ากับสาวกไม่ได้ใช้ “รู้” ในศาสนา  แต่ไปเอา “คิดรู้” แบบนักปรัชญามาใช้แทน  คือ คิดแบบนักปรัชญา

ท่านผู้อ่านบางท่านอาจจะสงสัยในใจ “รู้” ในทางศาสนาที่ “ไม่เห็น” มีหรือ!!! และต่างกับ “คิดรู้” อย่างไร

โดยหลักการของวิชาธรรมกายแล้วต้อง “เห็น” เสียก่อนจึงจะ “รู้” ก็ตรงกับพระไตรปิฎก แต่มีเหมือนกันที่ “รู้” โดยไม่เห็น

ขอยกตัวอย่างเรื่องฌาน 8 ของสายพระป่า  พระป่าที่เก่งๆ นั้น สามารถเดินฌาน 8 แบบอนุโลม-ปฏิโลมจาก 1-2-3-4-5-6-7-8 และ 8-7-6-5-4-3-2-1  โดยไม่เห็น “แผ่นฌาน” แต่ท่านรู้ว่ามีแผ่นฌาณอยู่  ท่านรู้ว่าอยู่ระหว่างฌานไหน โดยรู้มาจาก “อารมณ์ฌาน” ของท่านเอง

ส่วนวิชาธรรมกายนั้น ระหว่างเดินฌาน เราต้องเห็นแผ่นฌานไปด้วย คือ เราเปลี่ยนแผ่นฌานเอาเลย  อารมณ์ฌานจะเกิดขึ้นเอง เมื่อแผ่นฌานเปลี่ยนไป

สำหรับ “รู้” ในทางศาสนากับ “คิดรู้” ในต่างกันอย่างไร

“รู้” ในทางศาสนาต้องปฏิบัติธรรม แล้ว “รู้” นั้นจะเกิดขึ้นมา  ส่วน “คิดรู้” ก็อย่างที่เราศึกษากันในทางโลกนั่นแหละ  เราฟัง-อ่านแล้วเอามาคิด หรือจำมา ก็เกิดความรู้ขึ้นมา

ความรู้ของสายพองยุบที่ได้มานั้น เกิดจาก “คิดรู้” ไม่ใช่เกิดจากการปฏิบัติธรรม

ต่อไป หลวงพ่อวัดปากน้ำอธิบายทางปฏิบัติว่า เห็นกายในกาย เห็นเวทนาในเวทนา เห็นจิตในจิต เห็นธรรมในธรรมนั้นเป็นอย่างไร ไว้ดังนี้

กาเย กายานุปสฺสี เห็นกายในกาย เห็นเหมือนอะไร เห็นเหมือนนอนฝันอย่างนั้นซี เห็นจริงๆ อย่างนั้น ตากายมนุษย์นี่เห็นหรือ

ตากายฝันมันก็เห็นละซี จะไปเอาตากายมนุษย์นี่เห็นได้อย่างไรล่ะ ตากายมนุษย์นี่มันหยาบนี่อ้ายที่เห็นได้นั่นมันตากายมนุษย์ละเอียดนี่  มันก็เห็นกายโด่ ๆ อย่างนั้น

เห็นเวทนาในเวทนา เล่า ถ้าว่าเมื่อทำถูกส่วนเข้าเช่นนั้นละก็ เห็นเวทนาจริงๆ สุข ทุกข์ ไม่สุข ไม่ทุกข์ ดีใจ เสียใจ เวทนา ๓ หรือ เวทนา ๕ เห็นจริงๆ เป็นดวง เป็นดวงใส

เวทนา เวทนาแท้ๆ สุขก็ดวงใส ทุกข์ก็ดวงข้น ดวงขุ่นไม่สุข ไม่ทุกข์ ก็ดวงปานกลาง เห็นชัดๆ

เป็นดวงขนาดไหน ถ้าเต็มส่วนมันเข้าก็เท่าดวงจันทร์ดวงอาทิตย์นั่น ดวงเวทนาขนาดนั้น ถ้าลดส่วนลงไปก็โตได้เล็กได้ นั่นเห็นเวทนาในเวทนา เห็นอย่างนั้นเชียว เห็นเหมือนนอนฝัน กายละเอียดทีเดียว

เห็นเวทนาเป็นดวงทีเดียว แต่ว่าสุขก็อยู่ในสุขของมนุษย์นี่ ทุกข์ก็อยู่ในทุกข์ของมนุษย์นี่ไม่สุขไม่ทุกข์ก็อยู่ก็อยู่ในไม่สุขไม่ทุกข์ของมนุษย์นี่ ดีใจก็อยู่ในดีใจของมนุษย์นี่ เสียใจก็อยู่ในเสียใจของมนุษย์นี่ เขาเรียกว่า เวทนาในเวทนา เป็นดวงพอๆกัน เท่าๆ กัน

เห็นจิตในจิต ล่ะ ดวงจิตตามส่วนของมันก็เท่าดวงตาดำข้างนอก ถ้าไปเห็นเข้ารูปนั้นมันขยายส่วน วัดเท่าดวงจันทร์ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์เหมือนกัน ดวงจิตก็ขนาดเดียวกัน

ไปเห็นจริงๆ เข้าเช่นนั้น ขยายส่วนเท่าดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ปรากฏอยู่ในดวงจิตกายมนุษย์หยาบนี่แหละ แต่ว่าเป็นดวงจิตของกายมนุษย์ละเอียด อยู่ในกายมนุษย์ละเอียดโน่น แต่ว่าล้อมอยู่ข้างในนี่แหละ

เห็นธรรมในธรรม ล่ะ ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ใสบริสุทธิ์ เท่าฟองไข่แดงของไก่ เมื่อไปเห็นดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ละเอียดเข้าแล้วดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ก็ขยายส่วนได้ โตได้ขนาดดวงจันทร์ดวงอาทิตย์เหมือนกัน ขนาดๆ เดียวกัน ขยายส่วนออกไป นั้นได้ชื่อว่า เห็นธรรมในธรรม คือในกายมนุษย์นั้นเอง ในกายมนุษย์ละเอียดนั้นนี่รู้จักชั้นหนึ่งล่ะนะ

จากที่ยกเอาคำเทศน์ของหลวงพ่อวัดปากน้ำมาให้อ่านกันนั้น จะเห็นว่า วิชาธรรมกายอธิบายเรื่อง “เห็นกายในกาย เห็นเวทนาในเวทนา เห็นจิตในจิต เห็นธรรมในธรรม” ไว้ถูกต้องชัดเจนสอดคล้องกัน

สายพองยุบนั้น เอาแค่ “กายในกาย” ก็อธิบายไม่ได้เสียแล้ว คือ มีคำอธิบายแต่คำอธิบายมันขัดกันเอง ไม่สอดคล้องกันเอง  มั่วกันไปเอง

แล้วสายพองยุบจะพาสาวกไปนิพพานกันภายใน 7 ปี 7 เดือน 7 วันได้อย่างไร...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น