บริจาค

เห็นว่า..บล็อกนี้ดี มีประโยชน์... โปรดสนับสนุนผู้ทำบล็อกได้ที่ พร้อมเพย์ 083-4616989
หรือบัญชี 002-1-70462-8 กสิกรไทย สาขาบางลำภู

กาเย กายานุปัสสี


ในบทความที่แล้ว และบทความแรก ผมได้เกริ่นนำไปแล้วว่า พระมหาสมลักษณ์มีความใจกล้า ที่กล้าแปลสติปัฏฐาน 4 แตกต่างไปจากพระไตรปิฎก เพื่อให้สอดคล้องกับคำสอนของสายพองยุบ คือ แปล “กาเย กายานุปัสสี” เป็น “ตามรู้ในกองรูปว่าเป็นกองรูป

การแปลดังกล่าวนั้น เป็นการแปลที่ไม่เหมือนใคร เพราะ ส่วนใหญ่เขาแปลกันในความหมายที่ว่า “เห็นกายในกาย

การแปลของพระมหาสมลักษณ์นั้น ผมว่า “ใจถึงดี” คือ แปลตามคำสอนของสายพองยุบ ไม่ต้องสนใจชาวบ้าน  แต่คำแปลของพระมหาสมลักษณ์นั้น  ตรงกับสติปัฏฐานสูตรหรือไม่ นั่นคือ สิ่งที่ผมต้องการจะพิสูจน์

พระมหาสมลักษณ์แปลสติปัฏฐาน 4 ในส่วนของอุเทศวารกถาที่ต้องการนำมาวิเคราะห์ ดังนี้

สติปัฏฐานสี่คืออะไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในศาสนานี้
๑. ตามรู้ในกองรูปว่า เป็นกองรูปอยู่ มีความเพียรเผากิเลส มีปัญญาหยั่งเห็น มีสติ ข่มอภิชฌา และโทมนัสโนโลกอยู่
๒. ตามรู้ในเวทนาว่า เป็นเวทนาอยู่ มีความเพียรเผากิเลส มีปัญญาหยั่งเห็น มีสติ ข่มอภิชฌา และโทมนัสโนโลกอยู่
๓. ตามรู้ในจิตว่า เป็นจิตอยู่ มีความเพียรเผากิเลส มีปัญญาหยั่งเห็น มีสติ ข่มอภิชฌา และโทมนัสโนโลกอยู่
๔. ตามรู้ในสภาวธรรมว่า เป็นสภาวธรรมอยู่ มีความเพียรเผากิเลส มีปัญญาหยั่งเห็น มีสติ ข่มอภิชฌา และโทมนัสโนโลกอยู่ (มหาสติปัฏฐานสูตร หน้า 21)

ข้อความเดียวกับของพระมหาสมลักษณ์ พระไตรปิฏกแปลอย่างนี้

สติปัฏฐาน ๔ ประการ เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้
พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ๑
พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ๑
พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ๑
พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะมีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ๑ ฯ

การแปลของพระมหาสมลักษณ์ผิดแปลกไปจากชาวบ้านร้านถิ่น  ในการจะฟันธงไปเลยว่า “แปลผิด” ก็ใช่ที่ เพราะ ฟันธงแบบนี้ ไม่มีฝีมือ 

เราต้องอ่านคำอธิบายอื่นๆ อีกว่า พระมหาสมลักษณ์อธิบายขัดกันเองหรือไม่  อธิบายได้ครบถ้วนทุกประการหรือไม่  และสอดคล้องกับพระธรรมและพระวินัยหรือไม่

ในการที่จะเอาข้อเขียนของพระมหาสมลักษณ์มาวิพากษ์วิจารณ์กันทั้งหมดนั้น ทำไม่ได้ และไม่สมควรที่จะทำ เพราะ มันจะเสียเวลามาก และไม่มีประโยชน์ที่จะทำอย่างนั้น

เราก็ต้องใช้หลักของการสุ่มตัวอย่างของงานวิจัยมาใช้ คือ เลือกวิพากษ์วิจารณ์เฉพาะสิ่งที่สำคัญๆ เท่านั้นก็พอ

ส่วนที่สำคัญก็คือ ข้อความว่า  “กาเย กายานุปัสฺสี” (ตามรู้ในกองรูปว่าเป็นกองรูป) พระมหาสมลักษณ์มีคำอธิบายต่อมาดังนี้

คำว่า กาเย (ในกองรูป) แสดงฐานะแห่งการตามรู้ในกองรูป มิใช่ตามรู้ในเวทนา จิต หรือสภาวธรรม ส่วนคำว่า กาย ใน กายานุปัสสี (ตามรู้ว่าเป็นกองรูป) แสดงอาการของการตามรู้ว่า เป็นเพียงกองรูปที่ไม่ใช่บุคคล เรา ของเรา บุรุษ หรือสตรี แม้คำว่า เวทนาสุ เวทนานุปัสฺสี เป็นต้น ก็มีนัยเดียวกัน

ขอวิพากษ์วิจารณ์ในภาพรวมก่อน

การที่พระมหาสมลักษณ์พยายามอธิบายว่า “กาเย” คือ “ในกองรูป” ผมยังยอมรับได้  แต่การแปล กายานุปัสสี เป็น “ตามรู้ว่าเป็นกองรูป” นั้น  ผมเห็นว่า พระมหาสมลักษณ์ไม่สมควรได้เปรียญเก้าพม่ากับเปรียญแปดของไทยเลย

เป็นการแปลที่ “มั่วนิ่ม” ที่สุด  ผมไม่เคยเรียนภาษาบาลีโดยตรง ผมเรียนแต่ภาษาบาลีในภาษาไทยมาบ้าง   ผมก็พยายามหาอ่านว่า “อนุปัสสี” นั้นหมายความว่าอย่างไร

คำว่า “กายานุปัสสี” ก็คือ คำสนธิระหว่าง กาย+อนุปัสสี  คำว่า อนุปัสสี ก็คือ อนุปัสนานั่นแหละ คือ คำเดียวกัน  แต่คำว่า “อนุปัสสี” หมายความว่า “ผู้กระทำอนุปัสนา” ดังนั้น อนุปสฺสีก็ควรจะแปลว่า  ผู้พิจารณาเห็นเนืองๆ

ว่ากันลงลึกไปในข้อความของการแปลในส่วนนี้ “คำว่า กาเย (ในกองรูป) แสดงฐานะแห่งการตามรู้ในกองรูป มิใช่ตามรู้ในเวทนา จิต หรือสภาวธรรม

ผมก็ไม่รู้ว่า พระมหาสมลักษณ์จะแปลไปทำไม แปลเหมือนคนไม่มีปัญญา ไม่มีทางไป  ก็สติปัฏฐานสูตร แบ่งเป็น กาย เวทนา จิต ธรรม พระพุทธองค์ก็ทรงอธิบายไปทีละหัวข้อ  จะแปล “กาเย” ว่า ในกองรูป ก็ยังพอทน

แต่การแปล “กาเย” ว่า ตามรู้ในกองรูป ไม่ใช่ตามรู้ในเวทนา จิต ธรรม  จะแปลไปทำไม แปลแบบไม่มีทางไป แปลอย่างบิดเบือน แบบโง่ๆ

จะเห็นได้ว่า พระมหาสมลักษณ์กล้าแปลสติปัฏฐาน 4 ตามการปฏิบัติธรรมของสายพองยุบ แต่คำอธิบายนั้น  ขาดความเป็นวิชาการ ขาดเหตุผลสนับสนุน เป็นการแปล “มั่ว” ไปตามความเชื่อของท่านเท่านั้น

สุดท้ายเลย ปัญหาใหญ่ของสาวกสายพองยุบก็คือ ของความท้ายๆ ของกายานุปัสสนาจะมีข้อความนี้

ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกายภายในบ้าง
พิจารณาเห็นกายในกายภายนอกบ้าง
พิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในภายนอกบ้าง
พิจารณาเห็นธรรม คือความเกิดขึ้นในกายบ้าง
พิจารณาเห็นธรรมคือความเสื่อมในกายบ้าง
พิจารณาเห็นธรรมคือทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมในกายบ้าง
ย่อมอยู่อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า กายมีอยู่ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก
ดูกรภิกษุทั้งหลายอย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ฯ

เอาแค่ตัวอักษรสีแดงก็พอ ดูซิว่าพระมหาสมลักษณ์จะอธิบายในส่วนนี้อย่างไร  พระมหาสมลักษณ์ ท่านอธิบายไว้อย่างนี้

การตามรู้กองรูปสลับกัน
“ดังพรรณนามาฉะนี้ ภิกษุย่อม
๑. ตามรู้ในกองรูปภายในว่า เป็นกองรูปอยู่บ้าง
๒. ตามรู้ในกองรูปภายนอกว่า เป็นกองรูปอยู่บ้าง
๓. ตามรู้ในกองรูปทั้งภายในทั้งภายนอกว่า เป็นกองรูปอยู่บ้าง

ผู้ที่ตามรู้ลมหายใจเข้าออก จนกระทั่งปรากฏเป็นกองลมอย่างชัดเจน ในบางขณะอาจพิจารณาว่า ลมหายใจของบุคคลอื่นก็เหมือนกัน ความเข้าใจอย่างนี้ จัดเป็น การตามรู้กองรูป คือ ลมหายใจในกองรูปภายนอกโดยอนุมานจากประสบการณ์ของตน แต่นักปฏิบัติไม่ควรตั้งใจพิจารณาโดยเฉพาะ เพราะ อารมณ์หลักของการปฏิบัติต้องเป็นอารมณ์ภายใน เท่านั้น

ในบางขณะนักปฏิบัติอาจรับรู้ลมหายใจของตนโดยตรง และอนุมานรู้ลมหายใจของคนอื่นสลับกัน ความเข้าใจในลักษณะนี้ เป็นการตามรู้กองรูปทั้งภายในทั้งภายนอก

ถ้าผมรู้จักพระมหาสมลักษณ์เป็นการส่วนตัว ผมอยากจะถามจริงๆ ว่า การตามรู้ในกองรูปภายนอกนั้น ท่านทำอย่างไร  ตามรู้ในกายของตัวเอง พอยอมรับได้ แต่การตามรู้กองรูปของคนอื่น มันจะไม่มั่วไปหน่อยหรือ

สุดท้ายเลยก็คือ ข้อความที่ผมทำสีแดงไว้ คือ “โดยอนุมานจากประสบการณ์ของตน”  ข้อความนี้ ค้านพุทธพจน์อย่างแน่นอน เพราะ พระพุทธองค์ทรงยืนยันว่า หัวข้อธรรมะของท่านไม่เกี่ยวกับตรรกะ


[๗] ครั้นล่วง ๗ วัน พระผู้มีพระภาคทรงออกจากสมาธินั้นแล้ว เสด็จจากควงไม้ราชายตนะ เข้าไปยังต้นไม้อชปาลนิโครธ. ทราบว่า พระองค์ประทับอยู่ ณ ควงไม้อชปาลนิโครธนั้น และพระองค์เสด็จไปในที่สงัด หลีกเร้นอยู่ ได้มีพระปริวิตกแห่งจิตเกิดขึ้นอย่างนี้ว่า

ธรรมที่เราได้บรรลุแล้วนี้ เป็นคุณอันลึก เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก เป็นธรรมสงบ ประณีต ไม่หยั่งลงสู่ความตรึก ละเอียด เป็นวิสัยที่บัณฑิตจะพึงรู้แจ้ง

คำว่า “ไม่หยั่งลงสู่ความตรึก” นั่นแหละคือ ไม่เกี่ยวกับตรรกวิทยา ไม่ว่าจะเป็น นิรนัย อุปนัย/อนุมาน ใดๆ ทั้งสิ้น

คำว่า “อนุมาน” นั้น เป็นการเรียนรู้กันในทางโลกแบบคนธรรมดาเขาทำกัน  พวกเราที่เรียนหนังสือกันทุกคน ก็ใช้วิธีมาทั้งนั้น

แต่..........แต่ ในการปฏิบัติธรรมในทางศาสนาพุทธ ไม่มีอนุมาน  ต้องเห็นแล้วจึงรู้

จากที่เขียนมาทั้งหมดนั้น ขนาดในหมวดกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ซึ่งง่ายที่สุดแล้ว  พระพม่าก็ปฏิบัติธรรมอยู่ในหมวดนี้ ขอย้ำว่า เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น  พระมหาสมลักษณ์ก็ยังอธิบายออกทะเล ออกมหาสมุทรไป

ดังนั้น ในส่วนอื่นๆ คือ เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ธรรมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ไม่ต้องไปพูดความมั่ว  เพราะ มั่วอย่างสุดๆ เกินกว่าจะจินตนาการเลยทีเดียว.....




สติปัฏฐานสูตรของหลวงพ่อวัดปากน้ำ


ก่อนที่จะวิพากษ์วิจารณ์เนื้อหาของหนังสือ “มหาสติปัฏฐานสูตร” ที่แปลและเรียบเรียง โดยพระคันธสาราภิวงศ์ แห่งวัดท่ามะโอ จังหวัดลำปางกันต่อไป  ผมขอยกตัวอย่างการสอนสติปัฏฐาน 4 ของหลวงพ่อวัดปากน้ำมาอธิบายกันก่อน

ที่ต้องทำอย่างนี้ ก็เพราะคำบาลีที่ว่า “กาเย กายานุปัสสี” พระมหาสมลักษณ์ท่านแปลเป็น “ตามรู้ในกองรูปว่าเป็นกองรูป”  ซึ่งเป็นการแปลที่ไม่เหมือนใคร เพราะ ส่วนใหญ่เขาแปลกันว่า “เห็นกายในกาย

การแปลของพระมหาสมลักษณ์นั้น ผมว่า “ใจถึงดี” คือ แปลตามคำสอนของสายพองยุบ ไม่ต้องสนใจชาวบ้าน  แต่คำแปลของพระมหาสมลักษณ์นั้น  ตรงกับสติปัฏฐานสูตรหรือไม่ นั่นคือ สิ่งที่ผมต้องการจะพิสูจน์

ที่ต้องยกคำเทศน์ของหลวงพ่อวัดปากน้ำมาให้อ่านกันก่อน ก็เป็นเพราะว่า เป็นคำเทศน์ที่อธิบายสติปัฏฐานสูตรได้ตรงตามพระสูตรพระวินัยที่สุด  และต้องการให้เป็นหลักฐานว่า วิชาธรรมกายนี่แหละ สติปัฏฐานสูตรตัวจริงเสียงจริง

ในเว็บของวัดปากน้ำเรียงเทศน์กัณฑ์นี้เป็นกัณฑ์ที่ ๔๓ หลวงพ่อวัดปากน้ำเทศน์เมื่อ ๓ ตุลาคม ๒๔๙๗ ขอยกเฉพาะข้อความที่สำคัญๆ  รายละเอียดทั้งหมด ท่านที่สนใจไปอ่านได้ในเว็บของวัดปากน้ำ

อิธ ภิกฺขเว ภิกฺขุ กาเย กายา นุปสฺสี วิห รติ อาตาปี สมฺปชาโน สติมา วิเนยฺย  โลเก อภิชฺฌาโทมนสฺสํ  ว่าดูกรภิกษุทั้งหลายผู้ศึกษาพระธรรมวินัยของพระตถาคตเจ้านี้

กาเย กายานุปสฺสี                                   เห็นกายในกายเนืองๆ อยู่  
อาตาปี                                                     มีความเพียรเป็นเครื่องเผายัง กิเลสให้เร่าร้อน
สมฺปชาโน                                              รู้สึกตัวพร้อมอยู่เสมอ สติมา มีสติไม่เผลอ
วิเนยฺย โลเก อภิชฺฌา-โทมนสฺสํ         พึงกำจัดความดีใจเสียใจในโลกเสียให้พินาศ 

เวทนาสุ เวทนานุปสฺสี วิหรติ อาตาปี สมฺปชาโน สติมา วิเนยฺย โลเก อภิชฺฌาโทมนนสฺสํ  เห็นเวทนาในเวทนาเนือง ๆ อยู่ มีความเพียรเป็นเครื่องเผายังกิเลสให้เร่าร้อน มีความรู้สึกตัวพร้อมอยู่เสมอ มีสติไม่เผลอ พึงจำกัด อภิชฌาโทมนัสในโลกเสียให้พินาศ

จิตฺเต จิตฺตานุปสฺสี วิหรติ อาตาปี สมฺปชาโน สติมา วิเนยฺย โลเก อภิชฺฌา  โทมนสฺสํ เห็นจิตในจิตเนืองๆ อยู่ มีความเพียรเป็นเครื่องเผายังกิเลสให้เร่าร้อน มีความรู้สึกตัวพร้อมอยู่เสมอ  มีสติไม่เผลอ พึงกำจัด อภิชฌาโทมนัส ในโลกเสียให้พินาศ 

ธมฺเมสุ ธมฺมานฺปสฺสี วิหรติ อาตาปี สมฺปชาโน สติมา วิเนยฺยํ โลเก อภิชฺฌาโทมนสฺสํ เห็นธรรมในธรรมเนืองๆ อยู่ มีความเพียรเป็นเครื่องเผากิเลสให้เร่าร้อน มีความรู้สึกตัวพร้อมอยู่เสมอ มีสติไม่เผลอ พึงกำจัดความเพ่งอยากได้ ความเสียใจในโลกเสีย

หลวงพ่อวัดปากน้ำยังย้ำอีกว่า “นี้เป็นเนื้อความของวาระพระบาลีในมหาสติปัฏฐานสูตร แสดงหลักไว้ตามจริงดังนี้รับรองหมดทั้งประเทศไทยว่าเป็นข้อที่ถูกต้องแน่นอนแล้ว” ซึ่งก็เป็นจริงตามนั้น เพราะ พระไตรปิฎกแปลทุกฉบับในเมืองไทยก็แปลกันไปในทำนองเดียวกันนั้น

ต่อไปหลวงพ่อวัดปากน้ำอธิบายลึกลงไปในรายละเอียด ดังนี้

เห็นกายในกาย น่ะเห็นอย่างไร บัดนี้กายมนุษย์ ที่ปรากฏอยู่ นั่งเทศน์อยู่นี่ นั่งฟังอยู่นี่ นี่กายมนุษย์แท้ๆ แต่ว่ากายมนุษย์นี่แหละเวลานอนหลับฝันไปก็ได้ พอฝันออกไปอีกกายหนึ่ง เขาเรียกว่า กายมนุษย์ละเอียด

นี่รู้จักกันทุกคนเชียวกายนี้ เพราะเคยนอนฝันทุกคน รูปพรรณสัณฐานเป็นอย่างไร เป็นเหมือนมนุษย์คนนี้แหละ คนที่ฝันนี่แหละ นุ่งห่มอย่างไร อากัปกิริยาเป็นอย่างไร สูงต่ำอย่างไร ข้าวของเป็นอย่างไร ก็ปรากฏเป็นอย่างนั้น ก็ปรากฏเป็นคนนี้แหละแบบเดียวกันทีเดียว คนเดียวกันก็ว่าได้

แต่ว่าเป็นคนละคน เขาเรียกว่า กายมนุษย์ละเอียด เวลานอนหลับสนิทถูกส่วนเข้าแล้ว ก็ฝันออกไป ออกไปอีกคนหนึ่งก็เป็นกายมนุษย์คนนี้แหละ  รูปพรรณสัณฐานเป็นอย่างนี้แหละ ถึงได้ชื่อว่าเป็นกายมนุษย์ละเอียด

กายมนุษย์คนที่ฝันออกไปนั่นแหละเขาเรียกว่า กายมนุษย์ในกายมนุษย์ นี่แหละ กายในกาย หละ เห็นจริงๆ อย่างนี้ ไม่ใช่เห็นตามเหลวไหลเห็นอย่างนี้ก็เป็นหลักเป็นพยานได้ทุกคน เพราะเคยนอนฝันทุกคน นี่เห็นในกายเห็นอย่างนี่นะ เมื่อเห็นกายในกายอย่างนี้แล้ว

เห็นเวทนาในเวทนา ล่ะ ก็ตัวมนุษย์คนนี้มีเวทนาอย่างไรบ้าง สุข ทุกข์ ไม่สุข ไม่ทุกข์ ดีใจ เสียใจ เวทนาเป็นอย่างนั้นมิใช่หรือ ก็ส่วนกายที่ฝันออกไปนั้นก็มีสุข ทุกข์ ไม่สุข ไม่ทุกข์ ดีใจ เสียใจ เหมือนกันแบบเดียวกันกันกายมนุษย์คนนี้แหละ ไม่ต่างอะไรกันเลย

จิตล่ะ เห็นจิตในจิต ก็แบบเดียวกันกับเวทนาในเวทนา เห็นจิตในจิตนี่ ต้องกล่าว เห็นนะ ไม่ใช่กล่าว รู้ นะ

เห็นจิตในจิต ดวงจิตของมนุษย์นี้ เท่าดวงตาดำข้างนอก อยู่ในเบาะน้ำเลี้ยงหัวใจ ตำรับตำรากล่าวไว้ว่า หทยคูหา จิตฺตํ สรีร จิตฺตํ เนื้อหัวใจเป็นที่อยู่ แล้วก็กล่าวไว้อีกหลายนัย เนื้อหัวใจเป็นที่อยู่ แล้วก็กล่าวไว้อีกหลายนัย

ปกติมโน ใจเป็นปกติ ภวงฺคจิตฺตํ ใจเป็นภวังคจิต ตํ ภวงฺคจิตฺตํ อันว่าภวังคจิตนั้น ปสนฺนํ อุทกํ วิย จิตเป็นดังว่าน้ำ จิตนั่นแหละเป็นภวังคจิต เวลาตกภวังค์แล้วใสเหมือนกับน้ำที่ใส จิตดวงนั้นแหละเป็นจิตของมนุษย์ ที่ต้องมีปรากฏว่า จิตในจิตนั่นแหละอีกดวงหนึ่งคือ  จิตของกายมนุษย์ละเอียด ที่ฝันออกไปนั้นเรียกว่า จิตในจิต

ธรรมในธรรม เห็นธรรมในธรรมเนืองๆ เป็นไฉนเล่า ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ มีอยู่ในศูนย์กลางกายมนุษย์ ขนาดเท่าฟองไข่แดงของไก่ติดอยู่ในกลางกายมนุษย์ นี่เห็นธรรมในธรรมหละ

ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ละเอียดมีอยู่ ไม่เท่าฟองไข่แดงของไก่ สองเท่าฟองไข่แดงของไก่ อยู่ในกลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ละเอียดนี้แหละ สองเท่าฟองไข่แดงของไก่

นั่นเป็นดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ละเอียด นั่นอีกดวงหนึ่ง นั่นเห็นอย่างนี้ เห็น หรือรู้ ล่ะ รู้กับเห็นมันต่างกันนะ เห็นอย่างหนึ่ง รู้อย่างหนึ่ง นะ ไม่ใช่เอารู้กับเห็นมาปนกัน ไม่ได้

ขอย้ำคำสอนของหลวงพ่อวัดปากน้ำไว้ตรงนี้อีกหน่อย คำว่า “ไม่ใช่เอารู้กับเห็นมาปนกัน” ถูกต้องตรงเผงเลยทีเดียว 

คำว่า “ญาณทัสสนะ” นั้น “ญาณ” แปลว่า “รู้”  “ทัสสนะ” แปลว่า “เห็น”  ดังนั้น ในศาสนาพุทธเห็นกับรู้คนละอย่างกัน แต่ว่าต้องไปด้วยกัน เหมือนด้านหัวกับด้านก้อยของเหรียญ  คือ ต้อง “เห็น” เสียก่อนจึงจะ “รู้” ได้

พระพม่ากับสาวกเอา “เห็น” ออกไป แล้วเอา “รู้” มาแทนเห็น  แต่พระพม่ากับสาวกไม่ได้ใช้ “รู้” ในศาสนา  แต่ไปเอา “คิดรู้” แบบนักปรัชญามาใช้แทน  คือ คิดแบบนักปรัชญา

ท่านผู้อ่านบางท่านอาจจะสงสัยในใจ “รู้” ในทางศาสนาที่ “ไม่เห็น” มีหรือ!!! และต่างกับ “คิดรู้” อย่างไร

โดยหลักการของวิชาธรรมกายแล้วต้อง “เห็น” เสียก่อนจึงจะ “รู้” ก็ตรงกับพระไตรปิฎก แต่มีเหมือนกันที่ “รู้” โดยไม่เห็น

ขอยกตัวอย่างเรื่องฌาน 8 ของสายพระป่า  พระป่าที่เก่งๆ นั้น สามารถเดินฌาน 8 แบบอนุโลม-ปฏิโลมจาก 1-2-3-4-5-6-7-8 และ 8-7-6-5-4-3-2-1  โดยไม่เห็น “แผ่นฌาน” แต่ท่านรู้ว่ามีแผ่นฌาณอยู่  ท่านรู้ว่าอยู่ระหว่างฌานไหน โดยรู้มาจาก “อารมณ์ฌาน” ของท่านเอง

ส่วนวิชาธรรมกายนั้น ระหว่างเดินฌาน เราต้องเห็นแผ่นฌานไปด้วย คือ เราเปลี่ยนแผ่นฌานเอาเลย  อารมณ์ฌานจะเกิดขึ้นเอง เมื่อแผ่นฌานเปลี่ยนไป

สำหรับ “รู้” ในทางศาสนากับ “คิดรู้” ในต่างกันอย่างไร

“รู้” ในทางศาสนาต้องปฏิบัติธรรม แล้ว “รู้” นั้นจะเกิดขึ้นมา  ส่วน “คิดรู้” ก็อย่างที่เราศึกษากันในทางโลกนั่นแหละ  เราฟัง-อ่านแล้วเอามาคิด หรือจำมา ก็เกิดความรู้ขึ้นมา

ความรู้ของสายพองยุบที่ได้มานั้น เกิดจาก “คิดรู้” ไม่ใช่เกิดจากการปฏิบัติธรรม

ต่อไป หลวงพ่อวัดปากน้ำอธิบายทางปฏิบัติว่า เห็นกายในกาย เห็นเวทนาในเวทนา เห็นจิตในจิต เห็นธรรมในธรรมนั้นเป็นอย่างไร ไว้ดังนี้

กาเย กายานุปสฺสี เห็นกายในกาย เห็นเหมือนอะไร เห็นเหมือนนอนฝันอย่างนั้นซี เห็นจริงๆ อย่างนั้น ตากายมนุษย์นี่เห็นหรือ

ตากายฝันมันก็เห็นละซี จะไปเอาตากายมนุษย์นี่เห็นได้อย่างไรล่ะ ตากายมนุษย์นี่มันหยาบนี่อ้ายที่เห็นได้นั่นมันตากายมนุษย์ละเอียดนี่  มันก็เห็นกายโด่ ๆ อย่างนั้น

เห็นเวทนาในเวทนา เล่า ถ้าว่าเมื่อทำถูกส่วนเข้าเช่นนั้นละก็ เห็นเวทนาจริงๆ สุข ทุกข์ ไม่สุข ไม่ทุกข์ ดีใจ เสียใจ เวทนา ๓ หรือ เวทนา ๕ เห็นจริงๆ เป็นดวง เป็นดวงใส

เวทนา เวทนาแท้ๆ สุขก็ดวงใส ทุกข์ก็ดวงข้น ดวงขุ่นไม่สุข ไม่ทุกข์ ก็ดวงปานกลาง เห็นชัดๆ

เป็นดวงขนาดไหน ถ้าเต็มส่วนมันเข้าก็เท่าดวงจันทร์ดวงอาทิตย์นั่น ดวงเวทนาขนาดนั้น ถ้าลดส่วนลงไปก็โตได้เล็กได้ นั่นเห็นเวทนาในเวทนา เห็นอย่างนั้นเชียว เห็นเหมือนนอนฝัน กายละเอียดทีเดียว

เห็นเวทนาเป็นดวงทีเดียว แต่ว่าสุขก็อยู่ในสุขของมนุษย์นี่ ทุกข์ก็อยู่ในทุกข์ของมนุษย์นี่ไม่สุขไม่ทุกข์ก็อยู่ก็อยู่ในไม่สุขไม่ทุกข์ของมนุษย์นี่ ดีใจก็อยู่ในดีใจของมนุษย์นี่ เสียใจก็อยู่ในเสียใจของมนุษย์นี่ เขาเรียกว่า เวทนาในเวทนา เป็นดวงพอๆกัน เท่าๆ กัน

เห็นจิตในจิต ล่ะ ดวงจิตตามส่วนของมันก็เท่าดวงตาดำข้างนอก ถ้าไปเห็นเข้ารูปนั้นมันขยายส่วน วัดเท่าดวงจันทร์ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์เหมือนกัน ดวงจิตก็ขนาดเดียวกัน

ไปเห็นจริงๆ เข้าเช่นนั้น ขยายส่วนเท่าดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ปรากฏอยู่ในดวงจิตกายมนุษย์หยาบนี่แหละ แต่ว่าเป็นดวงจิตของกายมนุษย์ละเอียด อยู่ในกายมนุษย์ละเอียดโน่น แต่ว่าล้อมอยู่ข้างในนี่แหละ

เห็นธรรมในธรรม ล่ะ ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ใสบริสุทธิ์ เท่าฟองไข่แดงของไก่ เมื่อไปเห็นดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ละเอียดเข้าแล้วดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ก็ขยายส่วนได้ โตได้ขนาดดวงจันทร์ดวงอาทิตย์เหมือนกัน ขนาดๆ เดียวกัน ขยายส่วนออกไป นั้นได้ชื่อว่า เห็นธรรมในธรรม คือในกายมนุษย์นั้นเอง ในกายมนุษย์ละเอียดนั้นนี่รู้จักชั้นหนึ่งล่ะนะ

จากที่ยกเอาคำเทศน์ของหลวงพ่อวัดปากน้ำมาให้อ่านกันนั้น จะเห็นว่า วิชาธรรมกายอธิบายเรื่อง “เห็นกายในกาย เห็นเวทนาในเวทนา เห็นจิตในจิต เห็นธรรมในธรรม” ไว้ถูกต้องชัดเจนสอดคล้องกัน

สายพองยุบนั้น เอาแค่ “กายในกาย” ก็อธิบายไม่ได้เสียแล้ว คือ มีคำอธิบายแต่คำอธิบายมันขัดกันเอง ไม่สอดคล้องกันเอง  มั่วกันไปเอง

แล้วสายพองยุบจะพาสาวกไปนิพพานกันภายใน 7 ปี 7 เดือน 7 วันได้อย่างไร...

สติปัฏฐานเป็นธรรมหลักในโพธิปักขยธรรม


มาวิพากษ์วิจารณ์เนื้อหาของหนังสือ “มหาสติปัฏฐานสูตร” ที่แปลและเรียบเรียง โดยพระคันธสาราภิวงศ์ แห่งวัดท่ามะโอ จังหวัดลำปางกันต่อ

ในหน้าที่ 8 ของหนังสือ มหาสติปัฏฐานสูตร เล่มนี้ มีข้อความที่บิดเบือนความจริงอีกแล้ว ดังนี้

ในเรื่องนี้ อาจมีผู้สงสัยว่า เหตุใดพระพุทธองค์จึงตรัสว่า สติปัฏฐานเป็นทางสายเดียวแห่งการบรรลุพระนิพพาน ความเป็นจริงแล้ว ในโพธิปักขยธรรมยังมีหมวดธรรมอื่นๆ มี สัมมัปธาน เป็นต้น ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติเพื่อบรรลุพระนิพพานไม่ใช่หรือ

ขอชี้แจงว่า สติปัฏฐานเป็นธรรมหลักในโพธิปักขยธรรม ธรรมหมวดอื่น มีสัมมัปธานเป็นต้น เป็นองค์ประกอบหนุนให้การเจริญสติดำเนินไปโดยสะดวกและรวดเร็ว

ถึงตอนนี้ ผมชักจะเริ่มเซ็งๆ กับการบิดเบือนของพระมหาสมลักษณ์ขึ้นบ้างแล้ว  ท่านจะบิดเบือกกันไปถึงไหน  ทำอย่างกับว่า คนไทยปัญญาอ่อนกันทั้งประเทศหรือไง

สาวกท่านปัญญาอ่อน ผมก็ไม่ว่าอะไร เพราะ เป็นกรรมของท่านเหล่านั้น แต่ผมเป็นคนฉลาด ผมรู้ว่าท่านบิดเบือน  สิ่งที่เป็นปัญหาก็คือ ผมฉลาดจนกระทั่งสามารถอธิบายได้ว่า “ท่านบิดเบือนอย่างไร

ประการแรกเลย
พระพุทธองค์ไม่ได้ทรงสอนว่า สติปัฏฐาน 4 เป็นทางสายเอกแค่พระสูตรเดียว ยังมีพระสูตรอื่นๆ อีก ที่พระองค์สอนว่า เป็นทางสายเอก

ถ้าจะพูดกันให้ถึงแก่นจริงๆ และถูกต้องตามความเป็นจริง  หัวข้อธรรมะทั้ง 84,000 พระธรรมขันธ์นั้น เป็นทางสายเอกทั้งสิ้น

ประการที่สอง
สติปัฏฐานไม่ได้เป็นธรรมหลักในโพธิปักขยธรรม หลักฐานก็มาจากหนังสือเล่มนี้นี่แหละ  ในหนังสือเล่มนี้ หน้า 9-10 มีข้อความ ดังนี้

ดังนั้น สติปัฏฐานจึงเป็นหลักสำคัญในการปฏิบัติธรรมเพื่อความพ้นทุกข์ พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระอริยสาวกทั้งหลายใน ๔ อสงไขยแสนกัปนี้ และกัปอื่นๆ ได้บรรลุความหมดจดจากกิเลสด้วยทางสายเดียว คือ สติปัฏฐาน ๔ ดังข้อความว่า

ข้อความต่อมายกตัวอย่างภาษาบาลี 3 ย่อหน้า และคำแปลภาษาไทย 3 ย่อหน้า ข้อควาเหมือนกัน แตกต่างกันที่พระพุทธเจ้าในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ขอยกตัวอย่างคำแปลภาษาไทย ย่อหน้าเดียวดังนี้

ถึงแม้พระผู้มีพระภาคผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง ณ บัดนี้ ก็ทรงละนิวรณ์ ๕ อันยังใจให้เศร้าหมอง ทอนกำลังปัญญา มีพระมนัสตั้งมั่นแล้วในสติปัฏฐาน ๔ ทรงเจริญสัมโพชฌงค์ ๗ ตามความเป็นจริง จึงตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ

ขอยกรายละเอียดของโพธิปักขยธรรมอีกสักครั้ง เพื่อประกอบคำอธิบาย ดังนี้

โพธิปักขิยธรรม เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าสามัคคีธรรมมี ๓๗ ประการคือ

๑. สติปัฏฐาน ฐานเป็นที่กำหนดของสติ
๑.๑ การตั้งสติกำหนดพิจารณากาย (กายานุปัสสนา)
๑.๒ การตั้งสติกำหนดพิจารณาเวทนา (เวทนานุปัสสนา)
๑.๓ การตั้งสติกำหนดพิจารณาจิต (จิตตานุปัสสนา)
๑.๔ การตั้งสติกำหนดพิจารณาธรรม (ธรรมานุปัสสนา)

๒. สัมมัปปธาน หลักในการรักษากุศลธรรมไม่ให้เสื่อม
๒.๑ การเพียรระวังไม่ให้บาปเกิดขึ้นในตน (สังวรปธาน)
๒.๒ การเพียรละบาปที่เกิดขึ้นแล้ว (ปหานปธาน)
๒.๓ การเพียรสร้างกุศลให้เกิดขึ้นในตน (ภาวนาปธาน)
๒.๔ การเพียรรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้ว ไม้ให้เสื่อมไป (อนุรักขปธาน)

๓. อิทธิบาท เป้าหมายของความเจริญ
๓.๑ ความชอบใจทำ พอใจรักใคร่ในสิ่งนั้น (ฉันทะ)
๓.๒ ความแข็งใจทำ เพียรหมั่นประกอบในสิ่งนั้น (วิริยะ)
๓.๓ ความตั้งใจทำ เอาใจฝักใฝ่ในสิ่งนั้น ไม่ทอดทิ้งธุระ (จิตตะ)
๓.๔ ความเข้าใจทำ การใช้ปัญญาพิจารณาไตร่ตรองหาเหตุผลในสิ่งนั้น(วิมังสา)

๔. อินทรีย์
๔.๑ ให้เกิดความเชื่อ (ศรัทธา)
๔.๒ ให้เกิดความเพียร (วิริยะ)
๔.๓ ให้เกิดความระลึกได้ (สติ)
๔.๔ ให้เกิดความตั้งมั่น (สมาธิ)
๔.๕ ให้เกิดความรอบรู้ (ปํญญา)

๕. พละ กำลัง
๕.๑ ความเชื่อ (ศรัทธา)
๕.๒ ความเพียร (วิริยะ)
๕.๓ ความระลึกได้ (สติ)
๕.๔ ความตั้งมั่น (สมาธิ)
๕.๕ ความรอบรู้ (ปํญญา)

๖. โพชฌงค์ องค์แห่งการตรัสรู้
๖.๑ มีความระลึกได้ (สติ)
๖.๒ มีความพิจารณาในธรรม (ธัมมวิจยะ)
๖.๓ มีความเพียร (วิริยะ)
๖.๔ มีความอิ่มใจ (ปีติ)
๖.๕ มีความสงบสบายใจ (ปัสสัทธิ)
๖.๖ มีความตั้งมั่น (สมาธิ)
๖.๗ มีความวางเฉย (อุเบกขา)

๗. มรรค หนทางดับทุกข์
๗.๑ ใช้เพื่อเห็นชอบ คือ เห็นอริยสัจ (สัมมาทิฏฐิ)
๗.๒ ใช้เพื่อดำริชอบ คือ ดำริละเว้นในอกุศลวิตก (สัมมาสังกัปปะ)
๗.๓ ใช้เพื่อเจรจาชอบ คือ เว้นจากวจีทุจริต (สัมมาวาจา)
๗.๔ ใช้เพื่อทำการงานชอบ คือเว้นจากกายทุจริต (สัมมากัมมันตะ)
๗.๕ ใช้เพื่อทำอาชีพชอบ คือ เว้นจาก การเลี้ยงชีพในทางที่ผิด (สัมมาอาชีวะ)
๗.๖ ใช้เพื่อเพียรชอบ คือ สัมมัปปธาน (สัมมาวายามะ)
๗.๗ ใช้เพื่อระลึกชอบ คือ ระลึกในสติปัฏฐาน ๔ (สัมมาสติ)
๗.๘ ใช้เพื่อตั้งใจมั่นชอบ คือ เจริญฌานทั้ง ๔ (สัมมาสมาธิ)

การเรียงโพธิปักขยธรรมนั้น  ขอให้ผู้อ่านอ่านโดยใช้สามัญสำนึกธรรมดาก็รู้ว่า เป็นการเรียงตั้งแต่ระดับพื้นฐานขึ้นไปสู่ระดับสูง

หัวข้อธรรมะที่สำคัญที่สุดในโพธิปักขยธรรม ควรจะเป็น “มรรค ๘” อย่างน้อยๆ เท่าที่พระมหาสมลักษณ์ยกตัวอย่างมา “โพชฌงค์” ก็เป็นหลักธรรมที่สูงกว่าสติปัฏฐาน 4 อยู่ดี

หลักฐานอีกแห่งหนึ่งก็มาจากหนังสือเล่มนี้อีกเช่นเดียวกัน ในหน้า 20  พระมหาสมลักษณ์พยายามอธิบายข้อความภาษาบาลีข้อความนี้ “ญายสฺส อธิคมาย นิพฺพานสฺส สจฺฉกิริยาย” พระมหาสมลักษณ์แปลเป็นภาษาไทยว่า “บรรลุอริยมรรค เห็นแจ้งพระนิพพานได้

จะเห็นว่า การจะเห็นแจ้งนิพพานก็ต้องบรรลุอริยมรรค ซึ่งก็คือ มรรค 8

ไม่รู้ว่าพระมหาสมลักษณ์ท่านแกล้งโง่ หรือโง่จริงๆ  ภาษาไทยง่ายๆ แค่นี้ เข้าใจผิดไปถึงขนาดนั้น ได้อย่างไร

โดยสรุป

ข้อความที่ยกมาเพื่อวิพากษ์วิจารณ์ในบทความนี้ ก็เป็นผลงานการบิดเบือนของพระมหาสมลักษณ์อีกเช่นเคย

สติปัฏฐาน 4 เป็นหัวข้อธรรมะพื้นฐานที่สำคัญจริง  ไม่ผ่านสติปัฏฐาน 4 ไม่ได้  แต่ไม่ใช่ “แช่” อยู่แค่สติปัฏฐาน 4

นอกจากนั้นแล้ว สติปัฏฐาน 4 ไม่ใช่ธรรมหลักในโพธิปักขยธรรม ที่พระมหาสมลักษณ์ยกตัวอย่างมานั้น โพชฌงค์ก็สำคัญกว่าสติปัฏฐาน 4 อยู่แล้ว

จากการพิจารณาในองค์ประกอบของโพธิปักขยธรรมเอง มรรค 8 นั่นแหละเป็นหัวข้อธรรมะหลักของโพธิปักขยธรรม....