บริจาค

เห็นว่า..บล็อกนี้ดี มีประโยชน์... โปรดสนับสนุนผู้ทำบล็อกได้ที่ พร้อมเพย์ 083-4616989
หรือบัญชี 002-1-70462-8 กสิกรไทย สาขาบางลำภู

กาเย กายานุปัสสี


ในบทความที่แล้ว และบทความแรก ผมได้เกริ่นนำไปแล้วว่า พระมหาสมลักษณ์มีความใจกล้า ที่กล้าแปลสติปัฏฐาน 4 แตกต่างไปจากพระไตรปิฎก เพื่อให้สอดคล้องกับคำสอนของสายพองยุบ คือ แปล “กาเย กายานุปัสสี” เป็น “ตามรู้ในกองรูปว่าเป็นกองรูป

การแปลดังกล่าวนั้น เป็นการแปลที่ไม่เหมือนใคร เพราะ ส่วนใหญ่เขาแปลกันในความหมายที่ว่า “เห็นกายในกาย

การแปลของพระมหาสมลักษณ์นั้น ผมว่า “ใจถึงดี” คือ แปลตามคำสอนของสายพองยุบ ไม่ต้องสนใจชาวบ้าน  แต่คำแปลของพระมหาสมลักษณ์นั้น  ตรงกับสติปัฏฐานสูตรหรือไม่ นั่นคือ สิ่งที่ผมต้องการจะพิสูจน์

พระมหาสมลักษณ์แปลสติปัฏฐาน 4 ในส่วนของอุเทศวารกถาที่ต้องการนำมาวิเคราะห์ ดังนี้

สติปัฏฐานสี่คืออะไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในศาสนานี้
๑. ตามรู้ในกองรูปว่า เป็นกองรูปอยู่ มีความเพียรเผากิเลส มีปัญญาหยั่งเห็น มีสติ ข่มอภิชฌา และโทมนัสโนโลกอยู่
๒. ตามรู้ในเวทนาว่า เป็นเวทนาอยู่ มีความเพียรเผากิเลส มีปัญญาหยั่งเห็น มีสติ ข่มอภิชฌา และโทมนัสโนโลกอยู่
๓. ตามรู้ในจิตว่า เป็นจิตอยู่ มีความเพียรเผากิเลส มีปัญญาหยั่งเห็น มีสติ ข่มอภิชฌา และโทมนัสโนโลกอยู่
๔. ตามรู้ในสภาวธรรมว่า เป็นสภาวธรรมอยู่ มีความเพียรเผากิเลส มีปัญญาหยั่งเห็น มีสติ ข่มอภิชฌา และโทมนัสโนโลกอยู่ (มหาสติปัฏฐานสูตร หน้า 21)

ข้อความเดียวกับของพระมหาสมลักษณ์ พระไตรปิฏกแปลอย่างนี้

สติปัฏฐาน ๔ ประการ เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้
พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ๑
พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ๑
พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ๑
พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะมีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ๑ ฯ

การแปลของพระมหาสมลักษณ์ผิดแปลกไปจากชาวบ้านร้านถิ่น  ในการจะฟันธงไปเลยว่า “แปลผิด” ก็ใช่ที่ เพราะ ฟันธงแบบนี้ ไม่มีฝีมือ 

เราต้องอ่านคำอธิบายอื่นๆ อีกว่า พระมหาสมลักษณ์อธิบายขัดกันเองหรือไม่  อธิบายได้ครบถ้วนทุกประการหรือไม่  และสอดคล้องกับพระธรรมและพระวินัยหรือไม่

ในการที่จะเอาข้อเขียนของพระมหาสมลักษณ์มาวิพากษ์วิจารณ์กันทั้งหมดนั้น ทำไม่ได้ และไม่สมควรที่จะทำ เพราะ มันจะเสียเวลามาก และไม่มีประโยชน์ที่จะทำอย่างนั้น

เราก็ต้องใช้หลักของการสุ่มตัวอย่างของงานวิจัยมาใช้ คือ เลือกวิพากษ์วิจารณ์เฉพาะสิ่งที่สำคัญๆ เท่านั้นก็พอ

ส่วนที่สำคัญก็คือ ข้อความว่า  “กาเย กายานุปัสฺสี” (ตามรู้ในกองรูปว่าเป็นกองรูป) พระมหาสมลักษณ์มีคำอธิบายต่อมาดังนี้

คำว่า กาเย (ในกองรูป) แสดงฐานะแห่งการตามรู้ในกองรูป มิใช่ตามรู้ในเวทนา จิต หรือสภาวธรรม ส่วนคำว่า กาย ใน กายานุปัสสี (ตามรู้ว่าเป็นกองรูป) แสดงอาการของการตามรู้ว่า เป็นเพียงกองรูปที่ไม่ใช่บุคคล เรา ของเรา บุรุษ หรือสตรี แม้คำว่า เวทนาสุ เวทนานุปัสฺสี เป็นต้น ก็มีนัยเดียวกัน

ขอวิพากษ์วิจารณ์ในภาพรวมก่อน

การที่พระมหาสมลักษณ์พยายามอธิบายว่า “กาเย” คือ “ในกองรูป” ผมยังยอมรับได้  แต่การแปล กายานุปัสสี เป็น “ตามรู้ว่าเป็นกองรูป” นั้น  ผมเห็นว่า พระมหาสมลักษณ์ไม่สมควรได้เปรียญเก้าพม่ากับเปรียญแปดของไทยเลย

เป็นการแปลที่ “มั่วนิ่ม” ที่สุด  ผมไม่เคยเรียนภาษาบาลีโดยตรง ผมเรียนแต่ภาษาบาลีในภาษาไทยมาบ้าง   ผมก็พยายามหาอ่านว่า “อนุปัสสี” นั้นหมายความว่าอย่างไร

คำว่า “กายานุปัสสี” ก็คือ คำสนธิระหว่าง กาย+อนุปัสสี  คำว่า อนุปัสสี ก็คือ อนุปัสนานั่นแหละ คือ คำเดียวกัน  แต่คำว่า “อนุปัสสี” หมายความว่า “ผู้กระทำอนุปัสนา” ดังนั้น อนุปสฺสีก็ควรจะแปลว่า  ผู้พิจารณาเห็นเนืองๆ

ว่ากันลงลึกไปในข้อความของการแปลในส่วนนี้ “คำว่า กาเย (ในกองรูป) แสดงฐานะแห่งการตามรู้ในกองรูป มิใช่ตามรู้ในเวทนา จิต หรือสภาวธรรม

ผมก็ไม่รู้ว่า พระมหาสมลักษณ์จะแปลไปทำไม แปลเหมือนคนไม่มีปัญญา ไม่มีทางไป  ก็สติปัฏฐานสูตร แบ่งเป็น กาย เวทนา จิต ธรรม พระพุทธองค์ก็ทรงอธิบายไปทีละหัวข้อ  จะแปล “กาเย” ว่า ในกองรูป ก็ยังพอทน

แต่การแปล “กาเย” ว่า ตามรู้ในกองรูป ไม่ใช่ตามรู้ในเวทนา จิต ธรรม  จะแปลไปทำไม แปลแบบไม่มีทางไป แปลอย่างบิดเบือน แบบโง่ๆ

จะเห็นได้ว่า พระมหาสมลักษณ์กล้าแปลสติปัฏฐาน 4 ตามการปฏิบัติธรรมของสายพองยุบ แต่คำอธิบายนั้น  ขาดความเป็นวิชาการ ขาดเหตุผลสนับสนุน เป็นการแปล “มั่ว” ไปตามความเชื่อของท่านเท่านั้น

สุดท้ายเลย ปัญหาใหญ่ของสาวกสายพองยุบก็คือ ของความท้ายๆ ของกายานุปัสสนาจะมีข้อความนี้

ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกายภายในบ้าง
พิจารณาเห็นกายในกายภายนอกบ้าง
พิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในภายนอกบ้าง
พิจารณาเห็นธรรม คือความเกิดขึ้นในกายบ้าง
พิจารณาเห็นธรรมคือความเสื่อมในกายบ้าง
พิจารณาเห็นธรรมคือทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมในกายบ้าง
ย่อมอยู่อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า กายมีอยู่ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก
ดูกรภิกษุทั้งหลายอย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ฯ

เอาแค่ตัวอักษรสีแดงก็พอ ดูซิว่าพระมหาสมลักษณ์จะอธิบายในส่วนนี้อย่างไร  พระมหาสมลักษณ์ ท่านอธิบายไว้อย่างนี้

การตามรู้กองรูปสลับกัน
“ดังพรรณนามาฉะนี้ ภิกษุย่อม
๑. ตามรู้ในกองรูปภายในว่า เป็นกองรูปอยู่บ้าง
๒. ตามรู้ในกองรูปภายนอกว่า เป็นกองรูปอยู่บ้าง
๓. ตามรู้ในกองรูปทั้งภายในทั้งภายนอกว่า เป็นกองรูปอยู่บ้าง

ผู้ที่ตามรู้ลมหายใจเข้าออก จนกระทั่งปรากฏเป็นกองลมอย่างชัดเจน ในบางขณะอาจพิจารณาว่า ลมหายใจของบุคคลอื่นก็เหมือนกัน ความเข้าใจอย่างนี้ จัดเป็น การตามรู้กองรูป คือ ลมหายใจในกองรูปภายนอกโดยอนุมานจากประสบการณ์ของตน แต่นักปฏิบัติไม่ควรตั้งใจพิจารณาโดยเฉพาะ เพราะ อารมณ์หลักของการปฏิบัติต้องเป็นอารมณ์ภายใน เท่านั้น

ในบางขณะนักปฏิบัติอาจรับรู้ลมหายใจของตนโดยตรง และอนุมานรู้ลมหายใจของคนอื่นสลับกัน ความเข้าใจในลักษณะนี้ เป็นการตามรู้กองรูปทั้งภายในทั้งภายนอก

ถ้าผมรู้จักพระมหาสมลักษณ์เป็นการส่วนตัว ผมอยากจะถามจริงๆ ว่า การตามรู้ในกองรูปภายนอกนั้น ท่านทำอย่างไร  ตามรู้ในกายของตัวเอง พอยอมรับได้ แต่การตามรู้กองรูปของคนอื่น มันจะไม่มั่วไปหน่อยหรือ

สุดท้ายเลยก็คือ ข้อความที่ผมทำสีแดงไว้ คือ “โดยอนุมานจากประสบการณ์ของตน”  ข้อความนี้ ค้านพุทธพจน์อย่างแน่นอน เพราะ พระพุทธองค์ทรงยืนยันว่า หัวข้อธรรมะของท่านไม่เกี่ยวกับตรรกะ


[๗] ครั้นล่วง ๗ วัน พระผู้มีพระภาคทรงออกจากสมาธินั้นแล้ว เสด็จจากควงไม้ราชายตนะ เข้าไปยังต้นไม้อชปาลนิโครธ. ทราบว่า พระองค์ประทับอยู่ ณ ควงไม้อชปาลนิโครธนั้น และพระองค์เสด็จไปในที่สงัด หลีกเร้นอยู่ ได้มีพระปริวิตกแห่งจิตเกิดขึ้นอย่างนี้ว่า

ธรรมที่เราได้บรรลุแล้วนี้ เป็นคุณอันลึก เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก เป็นธรรมสงบ ประณีต ไม่หยั่งลงสู่ความตรึก ละเอียด เป็นวิสัยที่บัณฑิตจะพึงรู้แจ้ง

คำว่า “ไม่หยั่งลงสู่ความตรึก” นั่นแหละคือ ไม่เกี่ยวกับตรรกวิทยา ไม่ว่าจะเป็น นิรนัย อุปนัย/อนุมาน ใดๆ ทั้งสิ้น

คำว่า “อนุมาน” นั้น เป็นการเรียนรู้กันในทางโลกแบบคนธรรมดาเขาทำกัน  พวกเราที่เรียนหนังสือกันทุกคน ก็ใช้วิธีมาทั้งนั้น

แต่..........แต่ ในการปฏิบัติธรรมในทางศาสนาพุทธ ไม่มีอนุมาน  ต้องเห็นแล้วจึงรู้

จากที่เขียนมาทั้งหมดนั้น ขนาดในหมวดกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ซึ่งง่ายที่สุดแล้ว  พระพม่าก็ปฏิบัติธรรมอยู่ในหมวดนี้ ขอย้ำว่า เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น  พระมหาสมลักษณ์ก็ยังอธิบายออกทะเล ออกมหาสมุทรไป

ดังนั้น ในส่วนอื่นๆ คือ เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ธรรมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ไม่ต้องไปพูดความมั่ว  เพราะ มั่วอย่างสุดๆ เกินกว่าจะจินตนาการเลยทีเดียว.....




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น