บริจาค

เห็นว่า..บล็อกนี้ดี มีประโยชน์... โปรดสนับสนุนผู้ทำบล็อกได้ที่ พร้อมเพย์ 083-4616989
หรือบัญชี 002-1-70462-8 กสิกรไทย สาขาบางลำภู

สติปัฏฐานเป็นธรรมหลักในโพธิปักขยธรรม


มาวิพากษ์วิจารณ์เนื้อหาของหนังสือ “มหาสติปัฏฐานสูตร” ที่แปลและเรียบเรียง โดยพระคันธสาราภิวงศ์ แห่งวัดท่ามะโอ จังหวัดลำปางกันต่อ

ในหน้าที่ 8 ของหนังสือ มหาสติปัฏฐานสูตร เล่มนี้ มีข้อความที่บิดเบือนความจริงอีกแล้ว ดังนี้

ในเรื่องนี้ อาจมีผู้สงสัยว่า เหตุใดพระพุทธองค์จึงตรัสว่า สติปัฏฐานเป็นทางสายเดียวแห่งการบรรลุพระนิพพาน ความเป็นจริงแล้ว ในโพธิปักขยธรรมยังมีหมวดธรรมอื่นๆ มี สัมมัปธาน เป็นต้น ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติเพื่อบรรลุพระนิพพานไม่ใช่หรือ

ขอชี้แจงว่า สติปัฏฐานเป็นธรรมหลักในโพธิปักขยธรรม ธรรมหมวดอื่น มีสัมมัปธานเป็นต้น เป็นองค์ประกอบหนุนให้การเจริญสติดำเนินไปโดยสะดวกและรวดเร็ว

ถึงตอนนี้ ผมชักจะเริ่มเซ็งๆ กับการบิดเบือนของพระมหาสมลักษณ์ขึ้นบ้างแล้ว  ท่านจะบิดเบือกกันไปถึงไหน  ทำอย่างกับว่า คนไทยปัญญาอ่อนกันทั้งประเทศหรือไง

สาวกท่านปัญญาอ่อน ผมก็ไม่ว่าอะไร เพราะ เป็นกรรมของท่านเหล่านั้น แต่ผมเป็นคนฉลาด ผมรู้ว่าท่านบิดเบือน  สิ่งที่เป็นปัญหาก็คือ ผมฉลาดจนกระทั่งสามารถอธิบายได้ว่า “ท่านบิดเบือนอย่างไร

ประการแรกเลย
พระพุทธองค์ไม่ได้ทรงสอนว่า สติปัฏฐาน 4 เป็นทางสายเอกแค่พระสูตรเดียว ยังมีพระสูตรอื่นๆ อีก ที่พระองค์สอนว่า เป็นทางสายเอก

ถ้าจะพูดกันให้ถึงแก่นจริงๆ และถูกต้องตามความเป็นจริง  หัวข้อธรรมะทั้ง 84,000 พระธรรมขันธ์นั้น เป็นทางสายเอกทั้งสิ้น

ประการที่สอง
สติปัฏฐานไม่ได้เป็นธรรมหลักในโพธิปักขยธรรม หลักฐานก็มาจากหนังสือเล่มนี้นี่แหละ  ในหนังสือเล่มนี้ หน้า 9-10 มีข้อความ ดังนี้

ดังนั้น สติปัฏฐานจึงเป็นหลักสำคัญในการปฏิบัติธรรมเพื่อความพ้นทุกข์ พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระอริยสาวกทั้งหลายใน ๔ อสงไขยแสนกัปนี้ และกัปอื่นๆ ได้บรรลุความหมดจดจากกิเลสด้วยทางสายเดียว คือ สติปัฏฐาน ๔ ดังข้อความว่า

ข้อความต่อมายกตัวอย่างภาษาบาลี 3 ย่อหน้า และคำแปลภาษาไทย 3 ย่อหน้า ข้อควาเหมือนกัน แตกต่างกันที่พระพุทธเจ้าในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ขอยกตัวอย่างคำแปลภาษาไทย ย่อหน้าเดียวดังนี้

ถึงแม้พระผู้มีพระภาคผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง ณ บัดนี้ ก็ทรงละนิวรณ์ ๕ อันยังใจให้เศร้าหมอง ทอนกำลังปัญญา มีพระมนัสตั้งมั่นแล้วในสติปัฏฐาน ๔ ทรงเจริญสัมโพชฌงค์ ๗ ตามความเป็นจริง จึงตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ

ขอยกรายละเอียดของโพธิปักขยธรรมอีกสักครั้ง เพื่อประกอบคำอธิบาย ดังนี้

โพธิปักขิยธรรม เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าสามัคคีธรรมมี ๓๗ ประการคือ

๑. สติปัฏฐาน ฐานเป็นที่กำหนดของสติ
๑.๑ การตั้งสติกำหนดพิจารณากาย (กายานุปัสสนา)
๑.๒ การตั้งสติกำหนดพิจารณาเวทนา (เวทนานุปัสสนา)
๑.๓ การตั้งสติกำหนดพิจารณาจิต (จิตตานุปัสสนา)
๑.๔ การตั้งสติกำหนดพิจารณาธรรม (ธรรมานุปัสสนา)

๒. สัมมัปปธาน หลักในการรักษากุศลธรรมไม่ให้เสื่อม
๒.๑ การเพียรระวังไม่ให้บาปเกิดขึ้นในตน (สังวรปธาน)
๒.๒ การเพียรละบาปที่เกิดขึ้นแล้ว (ปหานปธาน)
๒.๓ การเพียรสร้างกุศลให้เกิดขึ้นในตน (ภาวนาปธาน)
๒.๔ การเพียรรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้ว ไม้ให้เสื่อมไป (อนุรักขปธาน)

๓. อิทธิบาท เป้าหมายของความเจริญ
๓.๑ ความชอบใจทำ พอใจรักใคร่ในสิ่งนั้น (ฉันทะ)
๓.๒ ความแข็งใจทำ เพียรหมั่นประกอบในสิ่งนั้น (วิริยะ)
๓.๓ ความตั้งใจทำ เอาใจฝักใฝ่ในสิ่งนั้น ไม่ทอดทิ้งธุระ (จิตตะ)
๓.๔ ความเข้าใจทำ การใช้ปัญญาพิจารณาไตร่ตรองหาเหตุผลในสิ่งนั้น(วิมังสา)

๔. อินทรีย์
๔.๑ ให้เกิดความเชื่อ (ศรัทธา)
๔.๒ ให้เกิดความเพียร (วิริยะ)
๔.๓ ให้เกิดความระลึกได้ (สติ)
๔.๔ ให้เกิดความตั้งมั่น (สมาธิ)
๔.๕ ให้เกิดความรอบรู้ (ปํญญา)

๕. พละ กำลัง
๕.๑ ความเชื่อ (ศรัทธา)
๕.๒ ความเพียร (วิริยะ)
๕.๓ ความระลึกได้ (สติ)
๕.๔ ความตั้งมั่น (สมาธิ)
๕.๕ ความรอบรู้ (ปํญญา)

๖. โพชฌงค์ องค์แห่งการตรัสรู้
๖.๑ มีความระลึกได้ (สติ)
๖.๒ มีความพิจารณาในธรรม (ธัมมวิจยะ)
๖.๓ มีความเพียร (วิริยะ)
๖.๔ มีความอิ่มใจ (ปีติ)
๖.๕ มีความสงบสบายใจ (ปัสสัทธิ)
๖.๖ มีความตั้งมั่น (สมาธิ)
๖.๗ มีความวางเฉย (อุเบกขา)

๗. มรรค หนทางดับทุกข์
๗.๑ ใช้เพื่อเห็นชอบ คือ เห็นอริยสัจ (สัมมาทิฏฐิ)
๗.๒ ใช้เพื่อดำริชอบ คือ ดำริละเว้นในอกุศลวิตก (สัมมาสังกัปปะ)
๗.๓ ใช้เพื่อเจรจาชอบ คือ เว้นจากวจีทุจริต (สัมมาวาจา)
๗.๔ ใช้เพื่อทำการงานชอบ คือเว้นจากกายทุจริต (สัมมากัมมันตะ)
๗.๕ ใช้เพื่อทำอาชีพชอบ คือ เว้นจาก การเลี้ยงชีพในทางที่ผิด (สัมมาอาชีวะ)
๗.๖ ใช้เพื่อเพียรชอบ คือ สัมมัปปธาน (สัมมาวายามะ)
๗.๗ ใช้เพื่อระลึกชอบ คือ ระลึกในสติปัฏฐาน ๔ (สัมมาสติ)
๗.๘ ใช้เพื่อตั้งใจมั่นชอบ คือ เจริญฌานทั้ง ๔ (สัมมาสมาธิ)

การเรียงโพธิปักขยธรรมนั้น  ขอให้ผู้อ่านอ่านโดยใช้สามัญสำนึกธรรมดาก็รู้ว่า เป็นการเรียงตั้งแต่ระดับพื้นฐานขึ้นไปสู่ระดับสูง

หัวข้อธรรมะที่สำคัญที่สุดในโพธิปักขยธรรม ควรจะเป็น “มรรค ๘” อย่างน้อยๆ เท่าที่พระมหาสมลักษณ์ยกตัวอย่างมา “โพชฌงค์” ก็เป็นหลักธรรมที่สูงกว่าสติปัฏฐาน 4 อยู่ดี

หลักฐานอีกแห่งหนึ่งก็มาจากหนังสือเล่มนี้อีกเช่นเดียวกัน ในหน้า 20  พระมหาสมลักษณ์พยายามอธิบายข้อความภาษาบาลีข้อความนี้ “ญายสฺส อธิคมาย นิพฺพานสฺส สจฺฉกิริยาย” พระมหาสมลักษณ์แปลเป็นภาษาไทยว่า “บรรลุอริยมรรค เห็นแจ้งพระนิพพานได้

จะเห็นว่า การจะเห็นแจ้งนิพพานก็ต้องบรรลุอริยมรรค ซึ่งก็คือ มรรค 8

ไม่รู้ว่าพระมหาสมลักษณ์ท่านแกล้งโง่ หรือโง่จริงๆ  ภาษาไทยง่ายๆ แค่นี้ เข้าใจผิดไปถึงขนาดนั้น ได้อย่างไร

โดยสรุป

ข้อความที่ยกมาเพื่อวิพากษ์วิจารณ์ในบทความนี้ ก็เป็นผลงานการบิดเบือนของพระมหาสมลักษณ์อีกเช่นเคย

สติปัฏฐาน 4 เป็นหัวข้อธรรมะพื้นฐานที่สำคัญจริง  ไม่ผ่านสติปัฏฐาน 4 ไม่ได้  แต่ไม่ใช่ “แช่” อยู่แค่สติปัฏฐาน 4

นอกจากนั้นแล้ว สติปัฏฐาน 4 ไม่ใช่ธรรมหลักในโพธิปักขยธรรม ที่พระมหาสมลักษณ์ยกตัวอย่างมานั้น โพชฌงค์ก็สำคัญกว่าสติปัฏฐาน 4 อยู่แล้ว

จากการพิจารณาในองค์ประกอบของโพธิปักขยธรรมเอง มรรค 8 นั่นแหละเป็นหัวข้อธรรมะหลักของโพธิปักขยธรรม....




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น