บริจาค

เห็นว่า..บล็อกนี้ดี มีประโยชน์... โปรดสนับสนุนผู้ทำบล็อกได้ที่ พร้อมเพย์ 083-4616989
หรือบัญชี 002-1-70462-8 กสิกรไทย สาขาบางลำภู

แค่คำนำก็แย่แล้ว [03]


วันนี้มาต่อเรื่อง “คำนำ” ในหนังสือ “มหาสติปัฏฐานสูตร” ของพระโสภณมหาเถระ (มหาสีสยาดอ) ที่แปลและเรียบเรียง โดยพระคันธสาราภิวงศ์ แห่งวัดท่ามะโอ จังหวัดลำปาง กันต่อไป เป็นบทความที่ 3 แล้ว

แนวทางในการเจริญสติปัฏฐานนี้ มีมาในมหาสติปัฏฐานสูตรของทีฆนิกายและมัชฌิมนิกาย ทั้งสองสูตรนี้มีข้อความตรงกัน โดยระบุวิธีเจริญสติไว้อย่างละเอียดถี่ถ้วนกว่าพระสูตรอื่นๆ ในนิกายทั้ง ๕ ซึ่งกล่าวถึงการเจริญสติไว้โดยย่อบ้าง โดยอ้อมบ้าง ตามอัธยาศัยของผู้ฟังในแต่ละโอกาส การศึกษาพระสูตรนี้ อย่างถ่องแท้ จะส่งผลให้เข้าใจคำสอนทั้งหมด ที่กล่าวถึงการปฏิบัติธรรม

ชาวพุทธในสมัยพุทธกาลให้ความสำคัญกับมหาสติปัฏฐานสูตรด้วยการศึกษา ท่องบ่น สาธยาย และสดับตรับฟังเป็นนิตย์ บางท่านได้บรรลุธรรมเป็นพระอริยบุคคลด้วยการฟังพระสูตรนี้

ข้อความที่ยกตัวอย่างไปข้างบนั้น จะเห็นว่าพระมหาสมลักษณ์หรือพระคันธสาราภิวงศ์เริ่มมั่วแล้ว ไปตามความเชื่อของพระพม่า เปรียญ 9 ของพม่า กับเปรียญ 8 ของไทย ช่วยท่านไม่ได้เลย

ข้อความนี้ “การศึกษาพระสูตรนี้ อย่างถ่องแท้ จะส่งผลให้เข้าใจคำสอนทั้งหมด ที่กล่าวถึงการปฏิบัติธรรม” เป็นข้อความที่ไม่จริงและเป็นไปไม่ได้อย่างเด็ดขาด 

ขอยกตัวอย่างหัวข้อธรรมะของโพธิปักขยธรรม, อานาปานสติสูตร และ “อุปริปัณณาสก์” มัชฌิมนิกาย  อีกครั้งหนึ่ง

โพธิปักขิยธรรม หรือ โพธิปักขิยธรรม 37 เป็นธรรมอันเป็นฝักฝ่ายแห่งความตรัสรู้ คือ เกื้อกูลแก่การตรัสรู้ เกื้อหนุนแก่อริยมรรค มี 37 ประการคือ

สติปัฏฐาน 4
สัมมัปปธาน 4
อิทธิบาท 4
อินทรีย์ 5
พละ 5
โพชฌงค์ 7
มรรคมีองค์ 8

จะเห็นว่าโพธิปักขิยธรรม หรือ โพธิปักขิยธรรม 7 หัวข้อธรรมะใหญ่ๆ นั้น  สติปัฏฐาน 4 เป็นหัวข้อธรรมะพื้นฐานชัดๆ  เรียนแค่สติปัฏฐาน 4 จะรู้ทั้งหมดเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมในศาสนาพุทธได้อย่างไร

หลักฐานอีกชิ้นหนึ่งอยู่ใน “อานาปานสติสูตร” และหนังสือของสาวกของพระพม่าก็ชอบยกมาอ้างกันมาก คือ ข้อความนี้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติ อันภิกษุเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก
ภิกษุที่เจริญอานาปานสติแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อม บำเพ็ญสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์ได้
ภิกษุที่เจริญสติปัฏฐาน ๔ แล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมบำเพ็ญโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์ได้
ภิกษุที่เจริญโพชฌงค์ ๗ แล้ว ทำให้มาก แล้ว ย่อมบำเพ็ญวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ได้ ฯ

จะเห็นว่าในอานาปานสติสูตรก็กล่าวไว้ชัดเจนว่า อานาปานสติเป็นพื้นฐานให้กับสติปัฏฐาน 4 สติปัฏฐาน 4 ก็ยังเป็นพื้นฐานให้กับโพชฌงค์ 7 เมื่อเรียนรู้และปฏิบัติหัวข้อธรรมะทั้งหมดที่กล่าวมาแล้วนั้น จึงจะ “บำเพ็ญวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ได้”

คำว่า “วิชชา” นั้น หมายถึงวิชชา 3 คำว่า “วิมุตติ” หมายถึงการบรรลุพระอรหันต์ หลักฐานก็มาจากหนังสือเล่มนี้ ของพระมหาสมลักษณ์เอง เพราะ ในหนังสือเล่มนี้ ก็อ้างข้อความดังกล่าว แต่มาจาก “อุปริปัณณาสก์” มัชฌิมนิกาย  ดังนี้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่เจริญอานาปานสติแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเจริญสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์ได้
ภิกษุที่เจริญสติปัฏฐาน ๔ แล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมบำเพ็ญโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์ได้

ภิกษุที่เจริญโพชฌงค์ ๗ แล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมบำเพ็ญวิชชา (มรรคญาณ ๔) และวิมุตติ (ผลญาณ ๔) ให้บริบูรณ์ได้ (หนังสือมหาสติปัฏฐานสูตร หน้า 67)

แล้วปฏิบัติธรรมเพียงเดินจงกรมไปมา มีสติอยู่กับอิริยาบถใหญ่ อิริยาบถย่อย และพิจารณาพระไตรลักษณ์ไปด้วย จะเข้าใจการปฏิบัติธรรมทั้งหมดในศาสนาพุทธได้อย่างไร

หลักฐานที่ชัดเจนที่ว่า การปฏิบัติธรรมแบบพระพม่า รวมถึงการปฏิบัติธรรมเฉพาะสติปัฏฐาน 4 ไม่สามารถบรรลุพระอรหันต์ได้ ก็มาจากข้อความของพระมหาสมลักษณ์ ดังนี้

ชาวพุทธในสมัยพุทธกาลให้ความสำคัญกับมหาสติปัฏฐานสูตรด้วยการศึกษา ท่องบ่น สาธยาย และสดับตรับฟังเป็นนิตย์ บางท่านได้บรรลุธรรมเป็นพระอริยบุคคลด้วยการฟังพระสูตรนี้

จะเห็นว่า พระมหาสมลักษณ์บอกเพียงว่า “บางท่านได้บรรลุธรรมเป็นพระอริยบุคคลด้วยการฟังพระสูตรนี้” ไม่ได้เป็นพระอรหันต์

ตรงนี้ พระมหาสมลักษณ์ไม่กล้าบิดเบือนเพราะ สติปัฏฐาน 4 นั้น มีในพระไตรปิฎกเพียง 2 แห่งเท่านั้น คือ ในทีฆนิกายและมัชฌิมนิกาย  ซึ่งมีเนื้อความตรงกัน

ตอนจบของสติปัฏฐาน 4 เป็นดังนี้

ผลแห่งการเจริญสติปัฏฐาน
[๑๕๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ผู้ใดผู้หนึ่ง พึงเจริญสติปัฏฐาน ๔ นี้ อย่างนี้ ตลอด ๗ ปี เขาพึงหวังผล ๒ ประการ อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ พระอรหัตตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อยังมีขันธบัญจกเหลืออยู่ เป็นพระอนาคามี

๗ ปี ยกไว้ ผู้ใดผู้หนึ่ง พึงเจริญสติปัฏฐาน ๔ นี้ อย่างนี้ ตลอด ๖ ปี ๕ ปี ๔ ปี ๓ ปี ๒ ปี ๑ ปี ... ๑ ปี ยกไว้. ผู้ใดผู้หนึ่ง พึงเจริญสติปัฏฐาน ๔ นี้ อย่างนี้ ตลอด ๗ เดือน เขาพึงหวังผล ๒ ประการ อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ พระอรหัตตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อขันธบัญจกมีเหลืออยู่ เป็นพระอนาคามี

๗ เดือน ยกไว้ผู้ใดผู้หนึ่ง  พึงเจริญสติปัฏฐาน ๔ นี้ อย่างนี้ ตลอด ๖ เดือน ๕ เดือน ๔ เดือน ๓ เดือน ๒ เดือน  ๑ เดือน กึ่งเดือน ... กึ่งเดือนยกไว้ ผู้ใดผู้หนึ่ง พึงเจริญสติปัฏฐาน ๔ นี้ อย่างนี้ ตลอด ๗ วัน เขาพึงหวังผล ๒ ประการ อย่างใดอย่างหนึ่ง คือพระอรหัตตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อขันธปัญจกยังเหลืออยู่ เป็นพระอนาคามี.

คำนิคม
[๑๕๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย หนทางนี้ เป็นที่ไปอันเอก เพื่อความบริสุทธิ์ของเหล่าสัตว์  เพื่อล่วงความโศกและปริเทวะ เพื่อความดับสูญแห่งทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุธรรมที่ถูกต้อง เพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง

หนทางนี้ คือ สติปัฏฐาน ๔ ประการ ฉะนี้แล คำที่เรากล่าวดังพรรณนามาฉะนี้ เราอาศัยเอกายนมรรคนี้กล่าวแล้ว.

พระผู้มีพระภาคตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นยินดี  ชื่นชม ภาษิต ของพระผู้มีพระภาค แล้วแล.

จะเห็นว่า ไม่มีใครบรรลุเป็นพระอรหันต์

ขอยกตัวอย่างจากอนัตตลักขณสูตร ดังนี้

[๒๔] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระสูตรนี้แล้ว พระปัญจวัคคีย์มีใจยินดี เพลิดเพลินภาษิตของผู้มีพระภาค. ก็แลเมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสไวยากรณภาษิตนี้อยู่ จิตของพระปัญจวัคคีย์พ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น.
อนัตตลักขณสูตร จบ
ครั้งนั้น มีพระอรหันต์เกิดขึ้นในโลก ๖ องค์.

ขอให้สังเกตข้อความที่ว่า “พ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น”  ถ้ามีข้อความนี้ แสดงว่า ในการสอนของพระพุทธองค์ในครั้งนั้น จะมีผู้บรรลุพระอรหันต์

ขอยกตัวอย่างจากอนุปุพพิกถาสูตร ดังนี้

ต่อมาพระผู้มีพระภาคทรงประทานโอวาทสั่งสอนภิกษุเหล่านั้น ด้วยธรรมีกถา.  เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงประทานโอวาทสั่งสอนภิกษุเหล่านั้นด้วยธรรมีกถา จิตของภิกษุเหล่านั้น พ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น. 
สมัยนั้น  มีพระอรหันต์เกิดขึ้นในโลก ๖๑ องค์. 
สหายคฤหัสถ์ ๕๐ คน  ของพระยสออกบรรพชา จบ. 

จากหลักฐานที่ยกไปข้างต้นทั้งหมดนั้น  ขนาดสติปัฏฐานสูตรเอง ยังไม่สามารถทำให้ผู้ปฏิบัติบรรลุเป็นพระอรหันต์ได้ 

การปฏิบัติธรรมของสายยุบหนอพองหนอ ที่อาศัยการเดินจงกรมไปมา และใช้สติในการ “คิดรู้” อย่างนักปรัชญา  ไม่ใช่ “ญาณทัสสนะ” ในศาสนาพุทธ จะทำให้คนเข้าใจการปฏิบัติธรรมทั้งหมดได้อย่างไร และจะพาสาวกไปนิพพานได้อย่างไร..





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น